วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ส่งงาน 5/16 (หลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน)


หลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงาน
                      มนุษยสัมพันธ์ที่ดีของบุคคลในองค์การเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง ซึ่ง สงวน  สุทธิเลิศอรุณ (2543 : 298) ได้อธิบายหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ไว้  3  แนวทาง  ดังนี้
        1.  หลักการเกี่ยวกับความพอใจ  ความพอใจเป็นพื้นฐานสำคัญของบุคคล  หากทุกคนพอใจที่จะทำงาน  พอใจผู้บริหาร  และเพื่อนร่วมงานแล้ว  เขาก็จะอุทิศกำลังกาย  กำลังใจให้กับองค์การ  หน่วยงาน  ตลอดจนทีมงานอย่างเต็มความสามารถซึ่งความพอใจที่สำคัญ คือ ความพอใจที่เกิดจากความรู้สึกว่าตนเองมั่นคง  เป็นที่ยอมรับนับถือของเพื่อนร่วมงาน ได้รับความรักและ ความไว้วางใจจากองค์การและสมาชิกทีมงาน  ความรู้สึกที่ดีเช่นนี้จะมีส่วนช่วยสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานเป็นอย่างดี
        2.  หลักการเกี่ยวกับความหวังของเพื่อนร่วมงานหรือสมาชิกในองค์การ  สมาชิกขององค์การหรือทีมงาน  นอกจากจะหวังสิ่งตอบแทนทางด้านวัตถุแล้วยังมีความต้องการทางด้านจิตใจที่จะเป็นพื้นฐานของการสร้างและรักษามนุษยสัมพันธ์ในการบริหารงาน  ประกอบด้วย  การมีโอกาสใช้ความรู้  ความสามารถของตน  การมีผู้บังคับบัญชา  และเพื่อนร่วมงานที่ดี มีบรรยากาศของการทำงานที่เป็นกันเองมีความเสมอภาคในการทำงานของสมาชิกทุกคน
        3.  หลักการเกี่ยวกับความหวังของผู้บริหาร  การดำเนินงานในภารกิจต่างๆ นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ในหน่วยงาน  ผู้บริหารจะต้องหาทางสนองตอบความหวังและความต้องการของตน  ในด้านการสร้างความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ การงาน  การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี  ความจงรักภักดีต่อตนเองและองค์การ
                        ดังนั้น หลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์จึงมุ่งที่ตัวบุคคลเป็นสำคัญ  ผลการปฏิบัติงานขององค์การและของทีมงานจะดีหรือไม่ดีนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับบุคลากรของหน่วยงานจึงจำเป็นอย่างยิ่ง          ที่ผู้บริหารจะต้องทราบว่าเพื่อนร่วมงานมีความต้องการหรือความพอใจในเรื่องใด  มีความมุ่งหวังอย่างไร  และพยายามสร้างโอกาสดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการและมุ่งหวังของสมาชิก ในองค์การ ตลอดจนทีมงานเพื่อให้สมาชิกในองค์การพึงพอใจนำไปสู่การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีส่งผลให้เกิดความเข้าใจและความไว้วางใจในการทำงานร่วมกันต่อไป
                       
                       วิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์
                        การสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ  และไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปหากสมาชิกทุกคนเปิดใจและมีน้ำใจให้กับเพื่อนร่วมงาน  จึงเป็นบทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารที่ จะต้องพยายามสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นกับองค์การ เพราะบุคคลในองค์การมีความแตกต่างกันในทุกๆ ด้าน  ดังนั้นวิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานมีแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ  3 ลักษณะ คือ
        1.  การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา  เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการทำงานร่วมกันของบุคคลในองค์การ  ซึ่ง กันตยา เพิ่มผล (2544 : 100) ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่า สมาชิกทุกคนในองค์การหรือทีมงาน  ควรมีการเรียนรู้นิสัยผู้บังคับบัญชา ให้ความเคารพนับถือทั้งต่อหน้าและลับหลัง หลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ  มีความรับผิดชอบในงานทุกอย่างที่ได้รับมอบหมายใช้ความรู้ ความสามารถและดำเนินการให้เกิดความสำเร็จหากมีปัญหาควรหาเวลาที่จะการปรึกษาหารือกันในเวลาที่เหมาะสม และไม่บ่นถึงความยากลำบากในการดำเนินงานต่อหน้าผู้บังคับบัญชา  ตลอดจนให้การยกย่องคุณความดีของผู้บังคับบัญชาในโอกาสอันเหมาะสม  สอดคล้องกับ สุพัตรา  สุภาพ (2540 : 59 ) ที่อธิบายลักษณะการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชาไว้ว่า สมาชิกทุกคนในองค์การหรือทีมงาน  ควรเข้าใจเป้าหมายในการทำงานของผู้บังคับบัญชา  มีความรับผิดชอบ  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและอุทิศตนให้กับงาน  มีความจงรักภักดีต่อผู้บังคับบัญชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง  ตลอดจนมีความสามารถในการประสานงานในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยยึดหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
                        2.  การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา  การสร้างมนุษยสัมพันธ์ในด้านนี้ หากปฏิบัติให้เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันของบุคลากรในองค์การหรือในทีมงาน กล่าวคือ การวางตัวระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเป็นสิ่งสำคัญหัวหน้างานหรือผู้บริหารควรมีแนวปฏิบัติที่ดี  คือ รู้จักควบคุมอารมณ์  ไม่โมโหฉุนเฉียว  ไม่หลงว่าตนเก่งกว่าคนอื่น  ไม่ใช้อำนาจเกินความจำเป็น  ไม่ตัดสินใจเวลาโกรธ  ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  พร้อมทั้งรู้จักเสริมสร้างกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชา โดยคำนึงถึงความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน  หาทางบำรุงขวัญกำลังใจให้เพื่อนร่วมงานทำงานอย่างมีความสุข  อาจใช้วิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  แสดงความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงาน  ไม่บ่นจู้จี้จุกจิกในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ  ดูแลเอาใจใส่ ในการทำงาน  และมีความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน  พร้อมทั้งรู้จักยกย่องชมเชยให้บำเหน็จความชอบตามโอกาสอันควร  เพื่อเป็นการให้เกียรติและสร้างความภาคภูมิใจให้กับสมาชิกทุกคน และในทุกๆ ด้าน  หลีกเลี่ยงการข่มขู่บังคับ  ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของผู้ใต้บังคับบัญชา ในองค์การและทีมงาน
                        3.  การสร้างมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน  มนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ  เพราะการทำงานร่วมกันของบุคลากรในองค์การและทีมงานนั้น  โอกาสที่สมาชิกจะเกิดการกระทบกระทั่งกันนั้น  ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นสิ่งปกติทั่วไป  แต่หากหลีกเลี่ยงได้แล้ว ก็จะก่อให้เกิดบรรยากาศของการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี  โดยที่สมาชิกทุกคนขององค์การหรือทีมงาน ควรสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน  มีความจริงใจพร้อมทั้งยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของเพื่อนร่วมงาน  ไม่เอาความดีความชอบแต่เพียงผู้เดียวหรือป้ายความผิดให้ผู้อื่น  มีความชื่นชมยินดีในความสำเร็จของเพื่อนร่วมงาน  หากมีข่าวสารที่สำคัญควรแจ้งให้ทุกคนรับทราบเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติให้ทันต่อเหตุการณ์  ตลอดจนมีการร่วมสังสรรค์ตามโอกาสอันควร  สิ่งเหล่านี่ย่อมนำมาซึ่งสัมพันธภาพอันดีในการทำงานร่วมกันของสมาชิกในองค์การหรือทีมงาน
        การบริหารงานในองค์การการสร้างมนุษยสัมพันธ์  จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจ  สร้างความร่วมมือร่วมใจ  สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน  ก่อให้เกิดความไว้วางใจในการทำงานร่วมกันของสมาชิกในองค์การและทีมงาน
                        ดังนั้นสรุปได้ว่า  การสร้างความไว้วางใจระหว่างกันด้วยการสร้างมนุษยสัมพันธ์  คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในองค์การและทีมงานเพื่อมุ่งให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น