วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ส่งงาน 9/16 (อาเซียนศึกษา)

                                                                    อาเซียนศึกษา
การจัดตั้ง
                สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ได้รับการจัดตั้งขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ณ วังสราญรมย์ ในกระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร โดยมีประเทศสมาชิกเริ่มแรก 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมา บรูไน ดารุสซาลามได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในวันที่ 8 มกราคม 2527 เวียดนามได้เข้าร่วมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2538 ลาวและพม่าเข้าร่วมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 และกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542

               ภูมิภาคอาเซียนนั้น ประกอบด้วยประชากรประมาณ 567 ล้านคน มีพื้นที่โดยรวม 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติประมาณ 1,100 พันล้านดอลลาร์ และรายได้โดยรวมจากการค้าประมาณ 1,400 พันล้านดอลลาร์ (สถิติในปี 2550)

วัตถุประสงค์
          ปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) ได้ระบุว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของอาเซียน คือ 1. เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและการพัฒนาวัฒนธรรม ในภูมิภาค
           2. ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยการเคารพหลักความยุติธรรมและ หลักนิติธรรมในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ตลอดจนยึดมั่นในหลักการแห่ง กฎบัตรสหประชาชาติ ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ในปี 2540 (ค.ศ.1997) ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรอง “วิสัยทัศน์อาเซียน 2020” (ASEAN Vision 2020) โดยเห็นพ้องกันในวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียนที่จะเป็นวงสมานฉันท์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก การใช้ชีวิตในสภาพที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ผูกมัดกันเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา ที่มีพลวัตและในประชาคมที่มีความเอื้ออาทรระหว่างกัน ปี 2546 ผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ภายในปี 2563 ต่อมา ในการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู ฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศอาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2558

หลักการพื้นฐานของความร่วมมือ
            ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ยอมรับในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน อันปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ TAC) ซึ่งประกอบด้วย
           การเคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณาการแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ประจำชาติของทุกชาติ สิทธิของทุกรัฐในการดำรงอยู่โดยปราศจากจากการแทรกแซง การโค่นล้มอธิปไตยหรือการบีบบังคับจากภายนอก หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันระงับความแตกต่างหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี การไม่ใช้การขู่บังคับ หรือการใช้กำลัง และความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างประเทศสมาชิกโครงสร้างองค์การของอาเซียน
             องค์กรสูงสุดของอาเซียนคือ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนหรือที่ประชุมของประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Summit) โดยจะมีที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ (ASEAN Ministerial Meeting) และที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers’ Meeting) เป็นองค์กรระดับรอง และอาจมีที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านอื่นๆ ด้วย การประชุมระดับผู้นำและรัฐมนตรีถือเป็นองค์กรระดับนโยบายชั้นสูง รองลงมาจะเป็นที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือระดับปลัดกระทรวง (Senior Officials’ Meeting -SOM) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และเร่งรัดการดำเนินการตามนโยบายของที่ประชุมระดับผู้นำและระดับรัฐมนตรี ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee -ASC) ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมอาเซียนของประเทศสมาชิก จะทำหน้าที่กำหนดแนวทาง และเร่งรัดการดำเนินการตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียนและที่ประชุมระดับรัฐมนตรี รวมทั้งให้ความเห็นชอบโครงการความร่วมมือด้านต่างๆ ภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียน กับประเทศคู่เจรจา ตลอดจนรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนจะตัดสินใจในเรื่องใดๆ โดยใช้ฉันทามติ
             นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สาม (ASEAN Committee in Third Countries) ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศคู่เจรจาทั้ง 10 ประเทศ และในประเทศอื่นๆ ที่อาเซียนเห็นสมควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลและวิเคราะห์ท่าทีของประเทศที่คณะกรรมการอาเซียนตั้งอยู่
สำนักเลขาธิการอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก มีเลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าผู้บริหารสำนักงาน เลขาธิการอาเซียนจะได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งโดยประเทศสมาชิก (ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศสมาชิก) และมีรองเลขาธิการอาเซียน 2 คน มาจากประเทศสมาชิกอาเซียนเรียงลำดับตามตัวอักษรชื่อภาษาอังกฤษของประเทศ และมีหน่วยงานเฉพาะด้านที่ดำเนินความร่วมมือ ในด้านต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในขณะที่กรมอาเซียนของประเทศสมาชิกจะทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการแห่งชาติของแต่ละประเทศ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของประเทศตนในการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือในสาขาต่างๆ นโยบายหลักในการดำเนินงานของอาเซียนเป็นผลมาจากการประชุมหารือในระดับหัวหน้ารัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีในสาขาความร่วมมือต่างๆ ของประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดี โครงสร้างของอาเซียน รวมทั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนตามที่กล่าวมาข้าวต้นกำลังจะถูกปรับเปลี่ยนตามกฎบัตรอาเซียนที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2552

ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง
            อาเซียนเห็นว่า สันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนา ในด้านต่างๆ จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building) ตลอดจน การสร้างเสถียรภาพ (stability) และสันติภาพ (peace) ในภูมิภาค ตลอดระยะเวลา 41 ปีที่ผ่านมา อาเซียนสามารถระงับข้อพิพาทไม่ให้ขยายตัวเป็นความตึงเครียดโดยการเจรจาหารือทางการเมืองและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นพ้องในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–APSC) อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความมั่นใจว่าประเทศในภูมิภาคจะอยู่ร่วมกันและร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยความสงบสุขในสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ประเทศสมาชิกของประชาคมได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะพึ่งพากระบวนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และคำนึงว่าความมั่นคงของประเทศสมาชิกจะเกี่ยวโยงกันตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน อันประกอบด้วย การพัฒนาด้านการเมือง การกำหนดและยึดถือบรรทัดฐานร่วมกัน การป้องกันความขัดแย้ง การการแก้ไขความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้ง โดยอยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงของกระบวนการ หลักการ ความตกลง และโครงสร้างของอาเซียนที่มีวิวัฒนาการมา ช้านาน ซึ่งปรากฏใน เอกสารสำคัญทางการเมืองดังนี้

           ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 8 สิงหาคม 2510
           ปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ อิสรภาพ และการวางตนเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2514
           ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519
            สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia ) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519
            ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้ (ASEAN Declaration on the South China Sea) ณ กรุงมะนิลา วันที่ 22 กรกฎาคม 2535
            สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear-Free Zone : SEAN-FZ) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 15 ธันวาคม 2540
             วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) ณ กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 15 ธันวาคม 2540
            ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ครั้งที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ณ บาหลี วันที่ 7 ตุลาคม 2546

            ปัจจุบันอาเซียนกำลังเจรจาจัดทำร่างแผนงานเพื่อจัดตั้ง APSC เพื่อให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2551 ที่ประเทศไทย ให้การรับรอง ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของ APSC ได้แก่ (1) สร้างประชาคมอาเซียนให้มีค่านิยมร่วมกัน (2) ให้อาเซียนสามารถเผชิญกับภัยคุกคาม ความมั่นคงในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ (3) ให้ประชาคมอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและสร้างสรรค์กับประชาคมโลก โดยให้อาเซียนมีบทบาทนำในภูมิภาค
ด้วยตระหนักถึงความเกี่ยวพันกันของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทย ได้เสนอให้มีการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) ในปี 2537 โดย ARF จะมุ่งเน้น 3 เรื่องหลักได้แก่ ส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Confidence Building) การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) และการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution) ประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
การประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะหารือเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ การไม่แพร่ขยายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี

             นอกจากนี้ อาเซียนยังมีกรอบความร่วมมือทางทหาร (ASEAN Defense Ministerial Meeting -ADMM) เพื่อสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างฝ่ายทหารของประเทศสมาชิก ความร่วมมือ ด้านการป้องกันยาเสพติด การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้ อาเซียนได้ลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ในปี 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น